เกี่ยวกับสมาคมสหกิจศึกษาไทย


    ข้อบังคับสมาคม


หมวดที่ 1
ความทั่วไป

ข้อ 1

สมาคมนี้มีชื่อ “สมาคมสหกิจศึกษาไทย” ใช้อักษรย่อว่า สสศท. เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “THAI ASSOCIATION FOR COOPERATIVE EDUCATION” ใช้อักษรย่อว่า T.A.C.E

ข้อ 2

เครื่องหมายของสมาคมประกอบด้วย
เครื่องหมายของสมาคมเป็นรูปอักษรย่อ TACE สีแสดและสีเทาวางเรียงซ้อนทับกันบนสี่เหลี่ยมผืนผ้าเส้นขอบสีเทา มีตัวอักษรชื่อสมาคมภาษาไทยสีเทาและภาษาอังกฤษสีดำกำกับ

รูปของเครื่องหมายสมาคม


ข้อ 3
สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ อาคารเรียนรวม 2 เลขที่ 111 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ถนนมหาวิทยาลัย ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 30000 โทรศัพท์ (044)-224830 โทรสาร (044)-224814
ข้อ 4
วัตถุประสงค์ของสมาคม
 
4.1
เพื่อส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสหกิจศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศ
 
4.2

เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นทางวิชาการสหกิจศึกษาระหว่างมวลสมาชิก
 
4.3
เพื่อส่งเสริมการศึกษา การฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ อันเป็นบริการทางวิชาการแก่สังคม
 
4.4
เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ สามัคคี และผดุงเกียรติของสมาชิก
 
4.5
ดำเนินการเพื่อสาธารณกุศลหรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
 
4.6
ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด

หมวดที่ 2
สมาชิก

ข้อ 5
สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท คือ
 
5.1
สมาชิกสามัญ ได้แก่
 
5.1.1
บุคคลทั่วไปที่ยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคมและคณะกรรมการบริหารสมาคมรับรอง
 
5.1.2
สถาบัน ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน หน่วยงานหรือองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดให้นักศึกษาไปปฎิบัติงาน ณ สถานประกอบการ ที่ยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคม และคณะกรรมการบริหารสมาคมรับรอง สมาชิกประเภทสถาบันมีสิทธิกำหนดผู้แทนเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมในฐานะสมาชิกได้ 2 คน
 
5.2
สมาชิกสมทบ ได้แก่ นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษาที่ยื่นคำขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคม และคณะกรรมการบริหารสมาคมรับรอง
 
5.3
สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
ข้อ 6
คุณสมบัติของสมาชิก
สมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ ต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
 
6.1
เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
 
6.2
เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
 
6.3
ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
 
6.4
ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นล้มละลายหรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุกยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือ ในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
ข้อ 7
ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม
 
7.1
สมาชิกสามัญ
 
7.1.1
บุคคลทั่วไปจะต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมคราวเดียว 1,000 บาท โดยถือเป็นสมาชิกตลอดชีพหรือเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมตามวาระ (วาระละ 2 ปี) 200 บาท
 
7.1.2
สถาบัน จะต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมคราวเดียว 2,000 บาท โดยถือเป็นสมาชิกตลอดชีพ
 
7.2
สมาชิกสมทบ จะต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปี ปีละ 100 บาท
 
7.3
สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม
ข้อ 8
การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม
 
8.1
สมาชิกสามัญ และสมาชิกสมทบ ต้องยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 2 คน และให้เลขาธิการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกอื่น ๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น
 
8.2
เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขาธิการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมเพื่อพิจารณาอนุมัติว่ารับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาการสมัครแล้วผลเป็นประการใดให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว
ข้อ 9
ถ้าคณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเป็นสมาชิกก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขาธิการและสมาชิกภาพของผู้สมัคร ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก
ข้อ 10
สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ 11
สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
 
11.1
ตาย
 
11.2
ลาออกโดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมและคณะกรรมการบริหารสมาคมได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
 
11.3
ขาดคุณสมบัติสมาชิก
 
11.4
เมื่อสมาชิกสบทบพ้นสภาพการเป็นนิสิต นักศึกษา
 
11.5
ไม่ชำระค่าลงทะเบียนตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมกำหนด
 
11.6
ที่ประชุมใหญ่ของสมาคมหรือคณะกรรมการบริหารสมาคมได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพข้อ 11.2 และ 11.3 อาจเข้าเป็นสมาชิกอีกได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคม
ข้อ 12
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
 
12.1
มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน
 
12.2
มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม
 
12.3
มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
 
12.4
มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
 
12.5
สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคมและมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง
 
12.6
มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
 
12.7
มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
 
12.8
มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
 
12.9
มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
 
12.10
มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
 
12.11
มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
 
12.12
มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

หมวดที่ 3
การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ 13
ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย 11 คน อย่างมากไม่เกิน 25 คน คณะกรรมการบริหารสมาคมนี้ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมและให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และ อุปนายก 2 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้งผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งดังกล่าวข้างต้นเข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคมตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการบริหารสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้
 
13.1
นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม เป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอก และทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมและการประชุมใหญ่ของสมาคม และมีหน้าที่อย่างอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสมาคม
 
13.2
อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคมปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคมให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
 
13.3
เลขาธิการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคมและปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
 
13.4
เหรัญญิก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
 
13.5
ปฏิคม มีหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม และรับผิดชอบเกี่ยวกับพัสดุและครุภัณฑ์ของสมาคม
 
13.6
นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำและรักษาทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมให้สมบูรณ์เป็นปัจจุบันเสมอ ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก และวิเคราะห์จัดทำรายงานสถานภาพของสมาชิก
 
13.7
สาราณียากร มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการทำวารสารและหนังสือต่าง ๆ ของสมาคม
 
13.8
ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
 
13.9
กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการบริหารสมาคมเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้น โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมตามข้างตนแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการบริหารมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการบริหารสมาคมกลาง คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วย นายกสมาคม และกรรมการบริหารสมาคมอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม
ข้อ 14
คณะกรรมการบริหารสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี และเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมอยู่ในตำแหน่งครบตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดเก่าและคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ15
ตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ 16
กรรมการบริหารสมาคมอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
 
16.1
ตาย
 
16.2
ลาออก
 
16.3
ขาดจากสมาชิกภาพ
 
16.4
ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
 
16.5
ไม่มาประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมโดยไม่ลาติดต่อกัน 3 ครั้งเมื่อได้รับทราบวันนัดประชุมแล้ว
ข้อ 17
กรรมการบริหารสมาคมที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมให้ยื่นใบลา ออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม และให้พ้นตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมมีมติให้ออก
ข้อ 18
อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารสมาคม
 
18.1
บริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบและวัตถุประสงค์ของสมาคม
 
18.2
มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
 
18.3
มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
 
18.4
พิจารณาอนุมัติหรือไม่อนุมัติรับบุคคลหรือสถาบันเข้าเป็นสมาชิก
 
18.5
มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการใด ๆ ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมมอบหมาย แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการบริหารสมาคมที่แต่งตั้ง
 
18.6
เชิญบุคคลที่เห็นสมควรเป็นที่ปรึกษาได้ตามความจำเป็นที่ปรึกษามีสิทธิเสนอความเห็นและอภิปรายในการประชุมแต่ไม่มีสิทธิในการออกคะแนนเสียง
 
18.7
มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
 
18.8
มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการบริหารสมาคมตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
 
18.9
มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
 
18.10
มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
 
18.11
มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
 
18.12
จัดทำบันทึกการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม เพื่อจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน และจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
 
18.13
ตีความหมายข้อบังคับของสมาคมในกรณีที่มีปัญหา
 
18.14
จัดกิจกรรมเพื่อหาทุนบำรุงสมาคม
 
18.15
มีอำนาจและหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ 19
คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องประชุมกันอย่างน้อยสามเดือนครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อ 20
การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม จะต้องมีกรรมการบริหารสมาคมเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการบริหารสมาคมทั้งหมด จึงถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม ถ้ามีข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด กรรมการบริหารสมาคมที่ไม่สามารถเข้าประชุมได้อาจมอบหมายให้ตัวแทนของตนเข้าประชุมแทนได้ โดยจะต้องมอบอำนาจไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้เข้าประชุมย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ที่ตนแทนทุกประการ
ข้อ 21
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการบริหารสมาคมที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการบริหารสมาคมคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 4
การประชุมใหญ่

ข้อ 22
การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ชนิด คือ
 
22.1
ประชุมใหญ่สามัญ
 
22.2
ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ 23
คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือนธันวาคมของทุก ๆ ปี
ข้อ 24
การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการบริหารสมาคมเห็นควรจัดให้มีขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของสมาชิกสามัญและสมาชิกสถาบันทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมให้จัดให้มีขึ้น
ข้อ 25
การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ ให้เลขาธิการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุ วัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ 26
การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
 
26.1
แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
 
26.2
แถลงบัญชีรายรัย รายจ่าย และบัญชีงบดุลปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
 
26.3
เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
 
26.4
เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
 
26.5
เรื่องอื่น ๆ ถ้ามี
ข้อ 27

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 50 คน ของสมาชิกสามัญทั้งหมดนั้น จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการบริหารสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วันนับตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 28
การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ถ้าข้อบังคับได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 29
ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคมที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5
การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 30
การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารสมาคม เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่นที่เชื่อถือได้ หรือจัดหาดอกผล ทั้งนี้โดยอนุมัติของคณะกรรมการบริหารสมาคม
ข้อ 31
การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมจะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขาธิการ หรือผู้ที่คณะกรรมการบริหารสมาคมกำหนด พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ 32
ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารสมาคม
ข้อ 33
ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าเงินจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ 34
การรักษาเงิน นอกจากที่กล่าวมาในข้อ 33 ให้เหรัญญิกและนายกสมาคม หรือผู้รักษาการแทนจัดฝากในธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้โดยอนุมัติของคณะกรรมการบริหารสมาคม
ข้อ 35
การอนุมัติจ่ายเงิน จะต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารลงนามอนุมัติโดยนายกสมาคมหรือผู้รักษาการแทน
ข้อ 36
เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของนายกสมาคมหรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง
ข้อ 37
ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการบริหารสมาคมหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมและจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ 38
ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการบริหารสมาคมและสามารถจะเชิญกรรมการบริหารสมาคมหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ 39
คณะกรรมการบริหารสมาคมจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 40
ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ทั้งนี้ผู้ขอเสนอเปลี่ยนแปลงข้อบังคับต้องเสนอรายละเอียดการขอเปลี่ยนแปลงมาเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านคณะกรรมการบริหารสมาคม เพื่อพิจารณาก่อนแล้วจึงนำเข้าที่ประชุมใหญ่
ข้อ 41
การเลิกสมาคม จะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคมยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฏหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ 42
เมื่อสมาคมต้องยกเลิกไม่ว่าเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือองค์กรที่เป็นนิติบุคคลเพื่อการกุศลอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการบริหารสมาคมพิจารณาเห็นสมควร

หมวดที่ 7
บทเฉพาะกาล

ข้อ 43
ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป
ข้อ 44
เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

Slot Deposit Pulsa Nibung88 Bo Togel Daftar Slot Pulsa Slot Pulsa